พระท่ากระดาน ตั้งตามชื่อ “วัดท่ากระดาน” ซึ่งเป็นวัดที่มีความเก่าแก่ในเมืองเก่าแก่เมืองเดียวริมน้ำแม่น้ำแควใหญ่ที่สำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา คู่กับเมืองกาญจนบุรี และเมืองไทรโยค มีวัดสำคัญอยู่ด้วยกัน 3 วัด คือ วัดเหนือ (วัดบน) วัดกลาง (วัดท่ากระดาน) และวัดล่าง ในราวปี พ.ศ. 2495 ได้มีการขุดค้นหาวัตถุโบราณจึงได้พบพระพิมพ์เนื้อตะกั่วสนิมแดงทั้งสามวัดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่วัดกลางเรียกชื่อเต็มว่า “วัดท่ากระดาน” ปรากฏพบพระพิมพ์เนื้อตะกั่วสนิมแดงที่สนิมงามจัดและปิดทองมาแต่ในกรุ และวัดนี้อยู่ในใจกลางเมืองของเมืองท่ากระดาน ชาวเมืองจึงได้เรียกพระนี้ตามที่ขุดพบ
สันนิษฐานว่าเป็นที่สร้าง พระท่ากระดาน บริเวณหน้าถ้ำทางตอนเหนือของเมืองขึ้นไปตามลำน้ำ น่าจะเป็นวัดเก่าแก่ เนื่องจากมีสภาพของศาสนวัตถุที่ปรักหักพังและมีพระเจดีย์จำนวนมาก และพบวัตถุโบราณมากมาย เช่น บาตร เตาดินหลายเตา ที่สำคัญพบสนิมแดงอยู่ตามพื้นบริเวณเตาและพบพระท่ากระดานอยู่หลายพิมพ์ จึงเชื่อว่าเป็นแหล่งสร้างพระท่ากระดานอย่างแน่นนอน ที่หน้าถ้ำยังพบต้นลั่นทมขนาดใหญ่ จึงเรียกพระท่ากระดานนี้ว่า พระท่ากระดานกรุต้นลั่นทม นอกจากนี้ยังมีการขุดพบตามบริเวณต่างๆ แต่พบไม่มาก
พระท่ากระดาน มีพุทธลักษณะ เหมือน พระอู่ทองหน้าแก่ เป็นศิลปะใน สมัยลพบุรี มีอายุประมาณ 500 – 600 ปี จึงเกิดสนิมไขแดงและสนิมแดง ขึ้นคลุม มีพระพักตร์เคร่งขรึมนี่เกรงขาม แข้งเป็นสัน และพระหนุแหลม พระท่ากระดาน ที่เห็นมีสีแดงนั้นที่เรียกกันว่า สนิมแดง นั้นเกิดจากเป็นการหล่อพระจาก เนื้อชินตะกั่ว พอมีอายุนานเข้าจะมีสนิมขึ้นปกคลุมองค์พระบนเนื้อผิว ผิวจะถูกจับด้วยสนิมที่เป็นสีแดงเนื่องจากมีปฏิกิริยาธรรมชาติ บนสนิมแดงก็จะมีไขขาวเคลือบอีกชั้นหนึ่ง และจากการเวลาที่ยาวนาน สนิมแดงนั้นจะมีสีเข้มคล้ายสีเปลือกมังคุด พระท่ากระดานจะมีอยู่ด้วยกัน 2 พิมพ์ คือ เกศตรง และเกศคด ด้านหลังแบนเลียบ พุทธคุณจะเด่นในทางด้านมหาอุด อยู่ยงคงกระพันชาตรี และโชคลาภ
พระท่ากระดาน มีอยู่ด้วยกัน 2 กรุ คือ พระกรุเก่า และพระกรุใหม่ ทั้ง 2 กรุมีความแตกต่างตรงที่พื้นหลังขององค์ “พระกรุเก่า” จะตัดติดเป็นขอบพื้นบ้าง ทำให้องค์พระแลดูใหญ่ล่ำสันกว่า “พระกรุใหม่” เนื่องจาก พระกรุใหม่นี้จะตัดขอบชิดกับแม่พิมพ์ขององค์พระ เห็นพระพักตร์และพระกรรณอย่างชัดเจน ดูเหมือนว่าพระกรุใหม่จะมีขนาดเล็กกว่าพระกรุเก่า พระท่ากระดานได้จัดให้อยู่ในประเภทเบญจภาคีพระชุดยอดขุนพลเนื้อชิน
ในปัจจุบันเป็นพระเครื่องเนื้อชินตะกั่วที่หายาก และเป็นที่นิยมของนักสะสมเป็นอย่างมาก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น